กรมการขนส่งทางบก ระบุ!!! ภายในสิ้นปี 2562 รถโดยสารและรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ทุกคันในประเทศไทย มีระบบ GPS Tracking สามารถติดตามและควบคุมพฤติกรรมการขับรถของพนักงานขับรถได้แบบเรียลไทม์ สร้างมาตรฐานความปลอดภัยระบบขนส่งสาธารณะอย่างยั่งยืน
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การควบคุมการใช้งานรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกให้มีความปลอดภัย เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่มีส่วนช่วยในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารและรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ติดตั้งระบบ GPS Tracking ภายใต้โครงการมั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 เป็นต้นมา เพื่อให้ภาครัฐ ผู้ประกอบการขนส่ง และประชาชนสามารถติดตามและควบคุมพฤติกรรมการขับรถของพนักงานขับรถได้แบบเรียลไทม์ สามารถแสดงข้อมูลการติดตามด้วยความแม่นยำสูง ประกอบด้วย การใช้ความเร็ว, เส้นทางที่ใช้, ระยะทาง, ตำแหน่งพิกัดของรถ, ชั่วโมงการขับรถและเวลาหยุดพัก เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารการขนส่งทางบกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กำหนดเส้นทางระยะทางการใช้รถ ติดตามพฤติกรรมการขับรถ และควบคุมการใช้ความเร็วที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนการขนส่ง พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS กรมการขนส่งทางบกทั้งที่ส่วนกลางและศูนย์ฯ GPS ในแต่ละจังหวัด เป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดตามรถโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน DLT GPS
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันรถโดยสารและรถบรรทุกมีการติดตั้งระบบ GPS Tracking และเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS กรมการขนส่งทางบกเรียบร้อยแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 315,804 คัน ดังนี้ รถโดยสารประจำทางติดตั้ง GPS แล้วจำนวน 22,864 คัน รถโดยสารไม่ประจำทางติดตั้ง GPS แล้วจำนวน 60,700 คัน รถบรรทุกไม่ประจำทางติดตั้ง GPS แล้วจำนวน 123,459 คัน คงเหลือรถบรรทุกส่วนบุคคลที่จดทะเบียนก่อนปี 2559 จำนวน 257,930 คัน เท่านั้น ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการติดตั้ง GPS Tracking ภายในรอบปีภาษี 2562 ซึ่งขณะนี้มีเจ้าของรถบางส่วนทยอยติดตั้ง GPS แล้วจำนวน 88,393 คัน (คิดเป็นร้อยละ 34.27) ส่งผลให้ภายใน 2562 นี้ รถโดยสารและรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ในประเทศไทยทุกคันจะมีระบบ GPS Tracking สามารถติดตามการเดินรถได้แบบเรียลไทม์ เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยของระบบขนส่งสาธารณะอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกยังกำหนดให้ติดตั้ง GPS Tracking ในรถแท็กซี่ตามโครงการ Taxi OK จำนวน 15,456 คัน และ Taxi VIP จำนวน 80 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มกราคม 2562) ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการด้านความปลอดภัยของกรมการขนส่งทางบกเกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความคุ้มครองด้านความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ขอให้ผู้ประกอบการขนส่งควบคุมและกำชับให้พนักงานขับรถปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยจะมีการตรวจสอบรายงานข้อมูลการเดินที่ผิดปกติเพื่อป้องกันการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องรบกวนสัญญาณหรือตัดสัญญาณ GPS รวมถึงประชาสัมพันธ์สำหรับประชาชนสามารถติดตามรถโดยสารสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน DLT GPS ตลอด 24 ชั่วโมง
แหล่งที่มา : https://www.dlt.go.th/th/public-news/view.php?_did=2233